แจกฟรี! Spreadsheet template วางแผนงบการเงินประจำปีส่วนตัว

0 Shares
0
0
0
เริ่มปีใหม่แล้ว มาวางแผนงบการเงินส่วนตัวของทั้งปีนี้กันครับ!

สมัยที่ผมเริ่มทำงาน ผมมีค่าใช้จ่ายที่ต้องปิดทุกเดือน ผ่อนคอนโด ผ่อนรถ ค่าน้ำมัน ฟิตเนส บิลโทรศัพท์ วัฏจักรการใช้เงินแต่ละเดือนของผมคือ ตอนสิ้นเดือน ก็นำเงินเดือนส่วนหนึ่งที่ได้ไปจ่ายบิลต่างๆ และใช้เงินที่เหลือสำหรับกิน เที่ยว ช้อปปิ้ง แล้วพอเหลือจากตรงนี้เท่าไหร่ก็ค่อยเอาไปออม เป็นแบบนี้วนไปครับ ส่วนเงินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายหนึ่งครั้งต่อปีอย่างเช่นประกันชีวิต ประกันรถ ค่าส่วนกลางคอนโด ผมก็เอาโบนัสที่ได้ในปีนั้นๆ มาจ่าย เห็นไหมครับ ชีวิตก็ดูโอเคดี ไม่ได้มีหนี้สินพัวพันอะไร

แต่ผลลัพธ์คือผมแทบจะไม่มีเงินเก็บเป็นชิ้นเป็นอันเลย เพราะเอาเงินมาใช้จ่ายก่อนแล้วพอเหลือถึงค่อยออม ซึ่งก็เหลือให้ออมน้อยมากครับแม่ แล้วพอไม่มีเงินออม ผมก็ไม่มีเงินก้อนไปลงทุนอะไรเลยรวมถึงไม่สามารถซื้อของที่อยากได้และจำเป็นต้องใช้จริงๆ ส่วนโบนัสก็ไม่ได้เก็บเพราะใช้ไปหมดแล้ว และแน่นอน ผมไม่มีเงินฉุกเฉินสำรองไว้หากเกิดสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด นี่ถ้าเกิดโควิดเมื่อ 9 ปีที่แล้วผมคงรอดยากเพราะสถานะทางการเงินของตัวเองอ่อนปวกเปียกมาก

หลังจากล้มลุกคลุกคลานกับความง่อนแง่นและไม่มั่นคงของตัวเองอยู่ 2 ปี ผมจึงได้เริ่มนิสัยการวางแผนงบประมาณประจำปี และปรับสมการการออมเงินจาก

เปลี่ยนจาก เมื่อได้เงินมา ใช้ไปก่อนเหลือเท่าไหร่ค่อยออม เป็น ได้เงินมา เก็บเงินบางส่วนไปออมก่อน (แนะนำว่าสัก 10-20% ของรายได้) จากนั้นจึงค่อยไปหักค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แล้วส่วนที่เหลือจึงเป็นเงินที่ผมต้องบริหารให้กินอยู่ได้เพียงพอในหนึ่งเดือน ไม่เกี่ยวกับเงินมากเงินน้อยครับ บางคนมีรายรับมาก แต่ไม่ได้วางแผนและใช้มากจนไม่มีเงินเก็บก็มีนะครับ

ได้ประโยชน์อะไรจากการทำแบบนี้?

  • เราจะคิดก่อนใช้เงินมากขึ้น – บางทีเราอาจจะนึกไม่ออกว่าเรามีค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนเยอะแค่ไหนจนกว่าจะได้เห็น ซึ่งการเห็นตัวเลขทั้งปีจะทำให้เราตระหนักว่าเรามีหนี้สินเท่าไหร่ เรากำลังจ่ายเงินเกินตัวหรือไม่ แล้วเราจะบริหารด้วยการลดค่าใช้จ่ายส่วนไหนได้บ้าง
  • ชีวิตจะมั่นคงขึ้น – เราจะสามารถออมเงินเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตได้ง่ายขึ้นเช่น ออมเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งควรเป็น 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน นั่นหมายความว่าหากเราตุ้บจากงานกะทันหัน เราจะยังมีเงินในส่วนนี้ยังชีพ ชำระหนี้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือนต่อไปอีกสักระยะ ผมอยากให้พวกเราลองกลับไปทบทวนว่าปัจจุบันเรามีเงินส่วนนี้รับรองความไม่แน่นอนของชีวิตแล้วหรือยังครับ

สิ่งที่ต้องใช้ในการจัดการ template นี้คือ?

  • ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ไม่นะ ไม่ต้องไปไกลถึงตรีโกณมิติครับ เราจะใช้กันแค่ บวก ลบ คูณ หาร แค่นั้นพอ
  • ความรู้โครตเบสิคในการใช้ Microsoft Excel และสูตรเพียงสูตรเดียวที่ใช้หากินได้ทุกที่คือ sum (ผลรวม)

ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาถึงจุดนี้ครับ เพราะคนส่วนมากมักไม่อ่านคู่มือก่อนเริ่มใช้ 555 ทีนี้อยากลุยแล้วใช่ไหมครับ? ไปดูส่วนหลักๆ ใน template นี้กันเลย!


Step 1: ระบุรายรับ

ก่อนอื่นให้ใส่ตัวเลขรายรับครับ ยกตัวอย่างเช่นเงินเดือนของงวดสิ้นเดือนธันวาคม ผมเอามาใส่เป็นรายรับของเดือนมกราคม เพราะผมจะใช้เงินส่วนนี้ในการบริหารเงินออมและค่าใช้จ่ายของรอบเดือนมกราคมครับ

ในทีนี้ผมใส่ “เงินเดือน”, “โบนัส” และ “อื่นๆ” ไว้ สามารถปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มแถวได้เลยครับหากใครมีรายรับทางอื่นด้วย ที่สำคัญ อย่าลืมเช็คสูตร sum ให้แน่ใจว่าผลรวมของรายรับทุกช่องทางถูกรวมเข้าด้วยกันอย่างถูกต้องด้วยนะครับ


Step 2: เก็บเงินออม

เงินออมเพื่อความมั่นคงในชีวิต
  • เงินสำรองฉุกเฉิน – อยากให้ลองพิจารณาดูครับว่าเราต้องแบ่งเงินมาออมตรงส่วนนี้เดือนละเท่าไหร่เพื่อที่จะมีเงินสำรองฉุกเฉินเก็บไว้เท่ากับ 3-6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน
  • เงินลงทุน – ตรงนี้จะเป็นการเก็บเงินให้เป็นก้อนๆ เพื่อนำเงินไปลงทุนให้งอกเงยสร้างความมั่งคั่งในอนาคตครับ ซึ่งอาจจะเป็นหุ้น หรือกองทุนรวม SSF เป็นต้น
  • ประกันชีวิต – ประกันชีวิตทั้งแบบสะสมทรัพย์และหรือแบบตลอดชีพล้วนแล้วแต่มีมูลค่าในตัว ยิ่งนานมูลค่ายิ่งเพิ่มและสามารถแปลงเป็นเงินฉุกเฉินได้ครับ ผมจึงรวมเข้าไปในหมวดเงินออมเพราะถือว่าไม่ได้จ่ายแล้วทิ้ง เราได้ประโยชน์กลับมาเต็มๆ ทั้งในด้านการดูแลคุ้มครองชีวิต สะสมทรัพย์ หรือเพื่อเป็นเงินมรดก รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีครับ
  • ประกันสุขภาพ – ผมแนะนำให้ทุกคนเก็บเงินออมสำหรับซื้อประกันสุขภาพไว้เพื่อความมั่นคงในชีวิตและรองรับสิ่งที่ไม่คาดฝันครับ ไม่อย่างนั้นหากเกิดอะไรรุนแรงขึ้นกับชีวิต เราอาจจะต้องนำเงินที่ออมไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นมาเป็นค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะสูงเหยียบแสนเหยียบล้าน ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตเปลี่ยนไปเลย ดังนั้นออมเงินเก็บไว้ซื้อความมั่นคงให้กับชีวิตจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำครับ และยังลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
  • เงินเพื่อการเกษียณ – เงินออมส่วนนี้ก็เป็นเงินอีกส่วนที่คนมองข้ามเยอะเหมือนกันครับ กว่าจะนึกได้ว่ามันสำคัญก็ใกล้เกษียณไปแล้วและอาจจะช้าไปสักนิดสำหรับการวางแผนการเงินให้ชีวิตอีก 20-30 ปีหลังเกษียณ ผมเองก็ไม่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่ยาวถึง 90 แต่ถ้าจะตายก่อน ก็ขอตายในขณะที่ยังมีเงินครับ 555 บนโลกนี้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายที่ให้ผลตอบแทนที่ดีหลังเกษียณไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญและ RMF เป็นต้นครับ ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกเหมือนกัน
เงินออมเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ
  • ตรงนี้สามารถใส่เพิ่มเติมได้เลยครับ ถ้าหากว่าในปีนี้เรามีแผนจะซื้อของชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ เช่นเคสมือถือ โทรศัพท์เครื่องใหม่ หรือหม้อทอดไร้น้ำมัน หรือออมเงินสำหรับทริปเที่ยวประจำปี และอยากซอยเงินแต่ละเดือนมาออมเก็บ ก็สามารถทำได้ครับ

Step 3: หักรายจ่าย

ในหัวข้อรายจ่ายผมได้แยกหมวดย่อยๆ ไว้หลายหมวดมาก ซึ่งสิ่งที่ผมใส่เตรียมไว้ให้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของทุกคน สามารถลบและเพิ่มได้เลยนะครับ เพียงแต่เราต้องตั้งสติดีๆ แล้วนึกให้ออกว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง ง่ายๆ เลยอยากให้ลองมองค่าใช้จ่ายออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ครับ

  • จ่ายรายเดือน รู้จำนวนแน่นอน – เงินส่วนนี้จัดการง่ายมากครับ เราอยู่กับมันทุกเดือนจนเรียกได้ว่าชิน เงินที่ได้มาแต่ละเดือนก็เอามาปิดหนี้ส่วนนี้ได้ตรงๆ เช่น ค่าบริการโทรศัพท์รายเดือน, ค่า internet บ้าน, ค่า Netflix (ใครแชร์กับเพื่อนอย่าลืมจ่ายให้เพื่อนด้วยนาจา), ค่า Spotify Premium, ค่าฟิตเนส, ค่า EasyPass, เงินเติมเที่ยวบัตร Rabbit รายเดือน เป็นต้น หรือใครมีหนี้ที่ต้องผ่อนบัตรเครดิตก็ใส่ได้เช่นกันครับ แต่แนะนำว่ารวมทั้งหมดแล้วไม่ควรเกิน 35% ของรายได้นะครับ
  • จ่ายรายปี รู้จำนวนแน่นอน – อาจจะเป็น ค่าประกันรถยนต์ หรือค่าส่วนกลางคอนโด เงินส่วนนี้ก็จัดการไม่ยากครับ แต่หลายคนเลือกที่จะไม่จัดการและหวังพึ่งโบนัสอย่างเดียว (เหมือนผมสมัยก่อน) วิธีจัดการง่ายๆ คือ เอาจำนวนที่ต้องจ่ายตั้ง หารด้วย 12 เดือน เท่านี้เราก็จะรู้ว่าต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่เพื่อที่จะปิดหนี้ก้อนนี้โดยไม่ต้องเบียดเบียนโบนัสที่ควรจะเป็นเงินออมครับ
  • รายจ่ายผันแปรที่ไม่รู้จำนวนแน่นอน – รายจ่ายในส่วนนี้นี่แหละครับที่มักจะสร้างปัญหาให้เรา เพราะคาดเดาได้ยากง่ายแตกต่างกันไป อาจจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ที่บางเดือนมีใช้มากใช้น้อยต่างกัน ก็จัดการด้วยการสำรวจประวัติการจ่ายในช่วง 1-2 ปีหลัง แล้วคาดการณ์เอาได้ครับ หรืออาจจะเป็นอะไรที่คาดเดายากขึ้นเช่นเงินใส่ซองงานแต่ง งานบวช หรือเงินค่าของขวัญสำหรับวันเกิดหรืองานเลี้ยง ตรงส่วนนี้ก็สามารถหักเงินบางส่วนแต่ละเดือนเก็บไว้ใช้เป็นงบเข้าสังคมฉุกเฉินก็ได้ครับ
Illustration by Storyset

Step 4: เงินเหลือเอาไว้ใช้

ทีนี้ ในช่อง “เงินเหลือ” ด้านล่าง เราก็จะเห็นตัวเลขหลังจากนำ รายได้ – เงินออม – รายจ่าย ซึ่งเงินเหลือตรงนี้คือค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่เราต้องบริหารใช้ให้พอดีใน 1 เดือนเช่นค่าอาหาร ขนม ช้อปปิ้งจิปาถะ เป็นต้นครับ และพอสิ้นเดือน หากเงินในส่วนนี้ยังเหลือ เราก็สามารถเอาไปเก็บไว้ในบัญชีเงินออมได้อีกต่างหาก เวิร์คสุด!

เริ่มวางแผนและลงมือจัดการวันนี้ ดีกว่าปล่อยให้ตัวเองพูดคำว่า “รู้งี้ทำซะตั้งนานแล้ว” ในวันที่สายไปครับ ซึ่งผมก็หวังว่าไฟล์ที่ผมแจกไปน่าจะเป็นประโยชน์และช่วยชีวิตได้ประมาณหนึ่ง ไฟล์นี้สามารถนำไปดัดแปลงแก้ไข ประยุกต์ใช้ในแบบที่เหมาะกับแต่ละคนได้เลยครับ สำหรับใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ template นี้ หรือเกี่ยวกับตัวประกันเพื่อสร้างความมั่นคงให้ชีวิตและนำไปลดหย่อนภาษี สามารถถามเข้ามาได้ตามช่องทางติดต่อที่ผมให้ไว้ในไฟล์ได้เลยนะครับ ยินดีช่วยเหลือครับผม 🙂


ข้อแนะนำในการใช้ template
  • เปิดทำในคอมพิวเตอร์จะสะดวกกว่าครับ เพราะเอาเม้าส์คลิ๊กจะค่อนข้างแม่นยำกว่าเอานิ้วจิ้มเวลาเลือก cell และกรอกข้อมูล
  • มีตัวอย่างให้ดูใน sheet ชื่อ “Example” ครับ
  • หากทำเสร็จแล้ว แนะนำให้อัพโหลดลง Google drive (ฟรีแน่นอน) แล้วตั้ง private ไว้เพื่อการเรียกเปิดและแก้ไขจากอุปกรณ์ไหนที่ไหนก็ได้ และป้องกันการสูญหายของไฟล์ด้วยครับ อุตส่าห์นั่งทำตั้งนานเนอะ 🙂
  • อย่าลืมทบทวนแผนอย่างสม่ำเสมอ เพราะสถานะทางการเงินของเรามักจะเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ ครับ
  • แนะนำให้แยกเงินไปจัดเก็บหลายๆ บัญชีสำหรับแต่ละจุดประสงค์ของการเก็บเงิน เพื่อความไม่งุนงง ผมเคยเก็บที่เดียวกันแล้วงงมาก แต่ถ้าจัดการได้และไม่งงก็โอเคตามสะดวกได้เลยครับ

0 Shares
3 comments
  1. ขอบคุณครับ กรอกง่าย ใช้ง่าย ทำให้เห็นภาพของการใช้จ่ายของตัวเอง และวางแผนการเงินในอนาคตแบบจับต้องได้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

You May Also Like

เรียนต่อตอนอายุ 30 ช้าไปไหม?

ด้วยเหตุผลบางประการ ขณะที่อายุ 30 ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ University of Leeds ประเทศอังกฤษ ผมยังจำความกังวลที่ผุดขึ้นมาในวินาทีที่ผมกำลังจะยื่นใบลาออกได้เป็นอย่างดี เพราะผมไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองเหมือนที่ใครๆ หลายคนก็เป็นและถามกับตัวเองว่า “เรียนต่อตอนอายุ 30 ช้าไปไหม?“ และนอกจากคำถามยอดฮิตนี้แล้ว นี่คือคำถามที่เหลือ (บางส่วน) ที่ผมพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองตลอดเวลาครับ…
Read More

เที่ยวต่างประเทศ แล้วได้อะไร? (ถอดบทเรียนเที่ยว 13 ประเทศใน 1 ปี)

ระหว่าง 1 ปีที่ผมเรียนที่อังกฤษ เพื่อนถาม… “ตอนเรียนที่นั่นได้เที่ยวบ้างหรือเปล่า” ผมตอบ… “อื้มมม ก็เที่ยวบ้างนะ ไม่ค่อยบ่อย” ตอนตอบไม่ได้คิดอะไรครับ แต่พอมาลองนับจริงๆ ถึงรู้ว่าตัวผมตลอดปี 2019 เที่ยวต่างประเทศ 13 ประเทศ! แน่นอนครับ เพื่อนมันต้องถามต่อ…
Read More

แก้ปัญหา work from hell หยุดทำงานไม่ได้ทั้งๆ ที่อยู่บ้าน

เช้าวันหนึ่งหลังจาก work from home ติดกันมา 3 สัปดาห์ ผมตื่นขึ้นมาพร้อมกับเริมที่ริมฝีปากล่าง ปีศาจที่ผมมักจะเจอเป็นประจำในช่วงที่พักผ่อนน้อย แม้ชั่วโมงทำงานตามสัญญาจ้างจะอยู่ที่ 08:00-17:00 หรือ 9 ชั่วโมงรวมเวลาพักในแต่ละวัน แต่ชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยของผมที่คอนโดจะเริ่มที่ 9 โมงเช้าและจบลงที่ตี 2…
Read More