ด้วยเหตุผลบางประการ ขณะที่อายุ 30 ผมตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ University of Leeds ประเทศอังกฤษ ผมยังจำความกังวลที่ผุดขึ้นมาในวินาทีที่ผมกำลังจะยื่นใบลาออกได้เป็นอย่างดี เพราะผมไม่มั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองเหมือนที่ใครๆ หลายคนก็เป็นและถามกับตัวเองว่า “เรียนต่อตอนอายุ 30 ช้าไปไหม?“
และนอกจากคำถามยอดฮิตนี้แล้ว นี่คือคำถามที่เหลือ (บางส่วน) ที่ผมพยายามหาคำตอบให้กับตัวเองตลอดเวลาครับ
… จริงไหมที่เคยได้ยินว่าการเรียนมันควรจะสิ้นสุดในวัยเลข 2 และในวัยเลข 3 ควรโฟกัสกับหน้าที่การงานอย่างเดียว?
… แล้วถ้าเป็นจริง เราจะแก่ที่สุด ประหลาดที่สุดในห้องเรียนหรือเปล่า?
… ยิ่งเรียนต่อและจบในขณะที่อายุยังน้อย คนยิ่งชมว่าเก่ง น่ายกย่อง แม้ผมไม่อยากได้คำชม แต่ผมกำลังเสียเปรียบเพราะเรียนต่อตอนอายุเยอะแล้วหรือเปล่า?
ผมพกคำถามที่สร้างความคับอกคับใจได้อย่างมหาศาลเหล่านั้นเดินทางไปด้วยกันถึงอังกฤษโดยที่ไม่มีคำตอบใดๆ ให้กับตัวเองนอกจาก “ไม่รู้โว้ย เป็นไงเป็นกัน” ครับ
การค้นพบระหว่างหาคำตอบ
ทันทีที่เริ่มคลาสวันแรก กะลาที่ครอบผมให้อยู่กับความคิดแบบเดิมๆ ถูกเปิดออกทันที จากที่เคยจินตนาการว่าผมคงเป็นหนึ่งในผู้สูงวัยไม่กี่คนที่นั่งสับสนหัวโด่ในดงวัยรุ่น แต่ในความเป็นจริง คนยุโรปประมาณครึ่งห้องมีอายุตั้งแต่ 30-50 และผมก็เกือบจะเด็กที่สุดในนั้นถ้าไม่นับรวมคนจีนที่โดยเฉลี่ยอยู่ในวัย 20 ต้นๆ ผมเริ่มสังเกตตัวเองและเพื่อนๆ นับตั้งแต่วันแรกผ่านเลคเชอร์ งานกลุ่ม seminar จนกระทั่งวิทยานิพนธ์ (ที่นี่เรียกกันว่า dissertation) แล้วคำตอบสำหรับคำถาม “เรียนต่อตอนอายุ 30 ช้าไปไหม?” ก็ชัดขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ผม “รู้จักตัวเอง” และ “รู้จักสิ่งที่กำลังเรียน” ครับ
เรียนสนุกขึ้นเพราะ “รู้จักและจัดการตัวเองได้”
สาเหตุที่การรู้จักและจัดการตัวเองมักถูกพูดถึงในการเรียน ป.โท ที่นี่เป็นเพราะเราจะไม่มีอาจารย์และเพื่อนคอยป้อนข้อมูลพร้อมเคี้ยวให้เหมือนตอน ป.ตรี ทุกอย่างเกิดจากการค้นคว้า ขวนขวายและติดตามด้วยตัวเอง การพึ่งพาตัวเองและจัดการกับความรู้สึกของตัวเองให้ได้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ตัวผมเองที่ผ่านวันเกิดมาแล้ว 30 รอบจึงรู้ดีว่าตัวเองชอบ-ไม่ชอบอะไร เรื่องไหนที่จะทำให้แฮปปี้หรือกังวล ถนัด-ห่วยแตกเรื่องอะไร โปรดัคทีฟสุดๆ ตอนไหนและภายใต้สภาพแวดล้อมแบบใด
ผมรู้ว่าตัวเองมักจะกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ผมจึงอ่านเนื้อหาที่จะต้องเรียนในสัปดาห์ถัดไปล่วงหน้าเพราะกังวลว่าจะฟังสำเนียงบริทิชของอาจารย์ไม่ออก จับใจความตอนเลคเชอร์ไม่ทัน และร่วมถกเถียงกับเพื่อนในคลาสไม่ได้ และต้องยอมรับเลยว่าการเตรียมตัวช่วยชีวิตผมไว้มาก
ผมรู้ว่าผมจะรู้สึกผิดหวังกับตัวเองได้ง่ายๆ หากไม่สามารถช่วยให้ทีมสำเร็จได้ ครั้งหนึ่งผมและเพื่อนอีก 2 คนที่เป็นคนอังกฤษต้องทำงานกลุ่มด้วยกัน หลังจากแบ่งงานกันเสร็จ ผมก็อาสาวาดภาพประกอบ ชดเชยกับสกิลภาษาอังกฤษของผมที่ไม่อาจสู้เจ้าของภาษาทั้ง 2 ซึ่งอาจทำให้กลุ่มเสียคะแนนได้ การอาสาครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีมมากขึ้น การเรียนมันก็เลยสนุกกว่าเดิม และยังได้คะแนนเพิ่มจากการวาดรูปด้วยครับ 😀
ผมรู้ว่าความคิดของผมจะโลดแล่นมากเวลาทำงานนอกสถานที่ ดังนั้นเวลาไปเที่ยว ผมจะพกอุปกรณ์สำหรับบันทึกไอเดียใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทริป รวมถึงเอางานวิจัยและหนังสือไปอ่าน และมากกว่า 70% ของไอเดียในวิทยานิพนธ์ของผมล้วนแล้วเกิดขึ้นตอนเที่ยวทั้งสิ้นครับ! มหัศจรรย์มั้ยล่ะ!
รู้ว่าสิ่งที่กำลังเรียนคืออะไรในชีวิตจริง
เอาเรื่องเรียน ป.โท และการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษออกไปก่อนนะครับ
เคยอยู่ในวงสนทนาแต่ไม่รู้ว่าเค้าคุยอะไรกันไหม? ผมเคยครับและคิดว่าปัญหานี้มีหลายที่มา ตั้งแต่ไม่มีความสนใจในประเด็นนั้น หรือไม่เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ มาก่อน ทีนี้ย้อนกลับมาเรื่องเรียน ป.โท ไอ้ปัญหาที่ว่าไปนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากว่าเรากำลังเรียนเรื่องที่เราไม่ได้สนใจ หรือไม่เคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องครับ
บ่ายวันหนึ่งที่หอพัก ขณะที่ผมกำลังทำจ๊อบฟรีแลนซ์ที่รับมา ลีออง เพื่อนคนจีนก็เข้ามานั่งกินบะหมี่ข้างๆ และชำเลืองมาที่งานที่ผมกำลังทำ ทันทีที่ลีอองสะดุดกับคำว่า retention-attrition (ศัพท์ในวงการ HR) บนหน้าจอ เขาวางตะเกียบและขอให้ผมอธิบายอย่างจริงจังว่าไอ้คำนี้มันหมายถึงอะไรในการทำงานจริง ลีอองเรียนโทในสาขา HR Management โดยที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลย กอปรกับเพื่อนรอบตัวเขาก็เพิ่งจบตรีหมาดๆ แล้วมาเรียนต่อทันทีเหมือนกัน ทำให้ไม่มีใครเก็ทกับมันจริงๆ สักคนเวลาที่ได้ยินศัพท์นี้ในเลคเชอร์หรือ seminar
สำหรับการเรียนปริญญาโท นอกจากเลคเชอร์แล้ว ก็ยังมี seminar ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษานำประเด็นหรือกรณีศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อที่เรียนมาพูดคุย ต่อยอดความคิดและเกิดเป็นไอเดียใหม่ ซึ่งคนที่มีประสบการณ์จะได้เปรียบ ไม่เพียงแต่สามารถนำสิ่งที่เคยเจอมาแชร์ได้แล้ว ยังเข้าใจสิ่งที่เพื่อนๆ แชร์ได้ง่ายขึ้นอีกด้วย seminar ยังถือเป็นหัวใจสำคัญของการฝึกทักษะการคิดเชิงวิพากษ์หรือ critical thinking skill ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาที่สำคัญในยุคที่คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างมากมายไร้ขีดจำกัดอีกด้วยครับ
ประสบการณ์ 7 ปีในการทำงานช่วยให้ผมเข้าใจความหมายของสิ่งที่กำลังเรียนได้ง่ายขึ้น และปะติดปะต่อเรื่องราวเป็นภาพใหญ่จนมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะประยุกต์สิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงได้อย่างมีความหมายมากขึ้นครับ
สรุปแล้ว เรียนต่อตอนอายุ 30 ช้าไปไหม?
ย้อนกลับมาที่คำถาม เรียนต่อตอนอายุ 30 ช้าไปไหม? อ่านมาถึงตรงนี้ ผมว่าหลายๆ คนคงสบายใจขึ้นและได้คำตอบให้กับตัวเองแล้ว หากเราจัดการตัวเองได้ เข้าใจความหมายของสิ่งที่เรียนและรู้ว่าจะนำไปใช้ต่อในชีวิตอย่างไร การเรียนก็จะสนุก เข้มข้น และมีความหมายมากขึ้น คำตอบที่ผมให้กับตัวเองคือ “มันไม่เคยช้าไปเลยที่มาเรียนตอนนี้ และต่อให้อายุมากกว่านี้ก็ยังไม่ช้า” เพราะตราบใดที่โลกยังหมุน เรื่องราวใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นทุกวัน และนั่นทำให้มีเรื่องที่ผมไม่รู้มากขึ้นทุกวัน
อย่ากลัวที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ แต่จงกลัวทัศนคติที่จะทำให้เรา “หยุดเรียนรู้”
“ฉันเป็นถึงผู้บริหารแล้วนะ ถ้าฉันบอกพนักงานไปว่าฉันไม่รู้ พนักงานก็จะมองว่าฉันโง่น่ะสิ”
“ต้องไปเรียนด้วยกันกับคนที่อายุน้อยกว่าเนี่ย มันทำให้ฉันดูเสียศักดิ์ศรีมั้ย”
“อาจารย์คนนั้นอายุน้อยกว่าฉันอีก ทำไมฉันต้องฟังเขา เขาจะสอนอะไรฉันได้เหรอ”
“เสียตังค์เรียนไปก็เท่านั้น จบมาก็ได้แค่กระดาษใบเดียว เอาเวลาไปทำมาหากินดีกว่า”
สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าการยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ คือทัศนคติที่จะทำให้เราหยุดเรียนรู้นี่แหละครับ ผมยังจำนาโอมิ เพื่อนร่วมคณะชาวญี่ปุ่นได้ ตอนแรกผมเดาว่าเธอน่าจะอายุราวๆ 40 จนกระทั่งผมได้นั่งติดกับเธอในวันปฐมนิเทศ จึงทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วเธออายุ 60! นาโอมิเล่าว่าการมาเรียนที่ยุโรปคือความฝันสมัยที่เธอยังสาว จากนั้นเธอเริ่มทำงาน แต่งงานและมีลูกในช่วงวัย 20 ต้นๆ จนเกษียณที่วัย 60 เธอจึงเพิ่งมีโอกาสทำตามฝันแม้จะล่วงเลยมาเกือบ 40 ปี เธอบอกว่าความอาวุโส เกียรติยศ อำนาจ และเงินทอง มักทำให้คนประมาทและหยุดพัฒนาตัวเอง เธอจึงเตือนตัวเองให้หมั่นเรียนรู้ตลอดเวลา
นาโอมิบอกอีกว่า แม้จะไม่ได้นำสิ่งที่เรียนไปใช้กับงานอีกแล้วก็ตาม แต่การได้มาเรียนที่นี่มันทำให้ชีวิตยังมีเป้าหมาย และในขณะที่เดินไปยังเป้าหมาย เธอก็อาจจะได้เจอเป้าหมายใหม่ๆ ระหว่างทาง ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่เธอไม่เคยรู้ และสิ่งนี้แหละที่ทำให้การใช้ชีวิตในทุกๆ วันมีความหมายมากขึ้น ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 40 ปีไม่เคยทำให้นาโอมิอยากหยุดเรียนรู้เลย เธออาจไม่รู้ว่าเธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมอย่างมาก และเธอทำให้ผมเห็นภาพนิยามของคำว่า lifelong learning ชัดขึ้น ไม่มีใครอายุมากเกินไปที่จะเรียนเลยจริงๆ
ผมสนับสนุนให้ทุกคนไม่หยุดเรียนรู้และหาโอกาสดึงจุดแข็งของตัวเองมาพัฒนา ตัวผมตั้งใจว่าตั้งแต่วันนี้จนจบปีหน้าจะต้องเรียนอะไรใหม่ๆ อย่างน้อย 6 อย่าง และอย่างแรกที่ผมได้เริ่มแล้วคือถ่ายทอดความคิดตัวเองผ่าน blog ที่ชื่อ Brightside Looker! อันนี้นี่เองครับ และ content แนวนี้คือสิ่งที่ผมจะเขียนมาให้อ่านในหมวด Live & Learn นะครับ
การเรียนรู้มันทำให้ผมมีเป้าหมาย และการมุ่งไปยังเป้าหมายมันทำให้ทุกๆ วันธรรมดาที่ผมลืมตาตื่นขึ้นมามีความหมายอย่างพิเศษครับ 🙂
27 comments
หยุดเรียนไปนานมากแล้ว และอยากกลับมาเรียนต่อแต่ก็คิดเรื่องอายุ อ่านคอนเท้นท์นี้ละเริ่มมั่นใจในการลุยต่อละ เป็นกำลังใจให้ในการเขียนบล๊อคดีๆ แบบนี้นะครับ
ขอบคุณมากครับ จริงๆ คนอายุ 30 ขึ้นไปที่มาเรียนก็มีเยอะเลยนะครับ ดังนั้นถ้าอยากลุย ลุยได้เลยครับ อาจจะได้รับบทบาทเป็นพี่เลี้ยงน้องๆ ด้วย สนุกดีฮะ XD
จริงๆ พี่เคย ส่งข้อความไปถามทางไดเร็คใน ig นานแล้ว แต่น้องต้องไม่ได้อ่าน😂😂😂
ฮืออ ขอโทษด้วยครับ รู้สึกผิดเลย ทักมาใหม่ได้นะฮะ 😀
แล้วจะทักไปอีกรอบนะครับ ขอบคุณมากครับ
TQ for inspiring and igniting something up in my soul 🙂
You are more than welcome krub 🙂
พี่ไปเรียนตอนอายุ 32 ตอนเรียนอยู่ บอกตัวเองเลยว่า โชคดีมาก ที่ไม่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย พอเรียนจบ ก็รู้เลยว่า การเรียนต่อ ตปท. มันเปิดโลก เปิดกะลา ให้เราจริงๆครับ
การเรียนรู้ ไม่ว่าจะเรียนในห้อง หรือ เรียนจากที่ใดๆ มันไม่มีคำว่าช้าครับ ขึ้นกับจังหวะชีวิตตอนนั้น สนใจเรื่องไหน เราก็โฟกัสเรื่องนั้น และเราจะทำมันได้ดีครับ
ขอบคุณครับพี่บิ๊ก ที่บอกมานั้นถูกทุกอย่างเลย มันไม่มีคำว่าช้าไปจริงๆครับ 🙂
Thanks for the good article and sharing valuable perspectives kub. 👍🏼
You are welcome krub 🙂
ผมก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเหมือนกัน ปัจจุบันก็ยังเรียนอยู่แม้อายุ จะเลย 35 แล้วว จนจะมี ปริญญา 7 ใบ คนรอบข้างหาว่าผมบ้า แต่ผมคิดเสมอ การที่เราไม่พัฒนาตัวเอง ไม่เรียนรู ก็เสมือนเราไร้จุดหมาย เป้าหมายแรงบันดาลใจ.
ปริญญา 7 ใบ!! ยินดีด้วยนะครับ สุดยอดเลยครับ คนที่ไม่ชอบเรียนจะไม่เข้าใจจริงๆ แต่ผมเข้าใจและขอเป็นกำลังใจให้พี่ด้วยนะครับ 🙂
อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆคาฟ
ยินดีมากเลยฮะ 🙂
อายุกำลังจะ 30 และมีความคิดเรื่องจะเรียนต่ออยู่พอดี มาเจอบทความนี้ช่วยให้อะไรในใจชัดเจนขึ้นมาก ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องดีๆนะครับ
ดีใจและยินดีมากครับ สิ่งที่ผมเขียนไปคือสิ่งที่คิดไว้จริงๆ แล้วพอลองอ่านๆ ที่คนแชร์ในเน็ต ก็พบว่าหลายคนมีความกังวลแบบเดียวกัน แต่เชื่อเถอะครับ การลงทุนครั้งนี้ไม่ขาดทุนแน่นอนฮะ 🙂
อ่านเจอบทความนี้ (จากเพื่อนในเฟสแชร์) ทำให้รู้สึกว่าไม่ผิด ที่เลือกมาเรียนต่อตอนเกือบ 40 ขอบคุณมากครับ และขอบคุณ คุณนาโอมิ จริงๆ
ขอบคุรครับ มีพี่คนไทยที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกันก็อายุ 40 เหมือนกันเลยครับ ไม่แปลกแน่นอน มาถูกทางแล้วครับ 🙂
How to translate in english
I just found your ig account and i like it. I want to know further but i can not read thai language. Thanks
Thanks for your comment. There’s a plan to have an English summary by the end of each entry. Please stay tuned 🙂
ขอบคุณนะครับที่มาแบ่งปันเรื่องราวดีๆแบบนี้ ผมก็เป็นอีกคนที่กำลังลังเลเรื่องเรียนต่อโทครับ เพราะกำลังจะ 30 แล้ว ตอนนี้คงชัดเจนมากขึ้นในการตัดสินใจเรียนต่อแล้วครับ ขอบคุณครับผม
ผมติดตามพี่มาจาก instagram ครับ ชอบบทความที่พี่เขียน ถ้ายังไงช่วงนี้มีเวลาว่างจากการทำงานอยู่บ้านก็อยากให้มาเขียนบทความทาง brightsidelooker บ่อยๆ ครับ
ผมเป็นอีกคนที่คิดเรื่องเรียนต่ออยู่ตลอดครับ แต่ก็ยังไม่สักที ย้อนไปตอนผมจบปริญญาตรีผมก็ทำงานเลยครับ คือตอนนั้นแค่อยากรู้ว่าที่เรียนมาแล้วชอบไหม ถ้าชอบก็อาจจะเรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือต่อยอด แต่ตอนนี้เริ่มจะค้นพบว่าสิ่งที่เรียนมากับงานที่ทำมันยังไม่สุด ยังมีอย่างอื่นที่สนใจมากกว่า (หรือไม่รู้ว่าเป็นเพราะเบื่องาน) ซึ่งอีกไม่กี่ปีผมก็จะ 30 แล้วครับ ก็ยังคิดอยู่ว่าจะเรียนต่อสาขาอะไร แต่คิดว่าจะเรียนในสิ่งที่สนใจฉีกไปจากงานที่ทำอยู่แต่ก็เอาความรู้มาประยุกต์ใช้ในงานที่ทำได้ ขอบคุณที่มาบอกเล่าประสบการณ์ดีๆและสร้างแรงบรรดาลใจให้ทุกๆคนครับ
ปล. แอพลิเคชั่น adidastraining ที่พี่แนะนำฮาวทูออกกำลังกายที่บ้านใช้ดีมากจริงๆครับ ให้ 5 ดาวเลย
คุณต้องจบตรีสาขาอะไรครับ
ผมวางแผนจะเรียนโทเหมือนกัน
เผื่อจะขอคำแนะนำครับ
ขอบคุณครับ
สวัสดีครับ ผมจบตรีศิลปศาสตร์สาขาภาษาอังกฤษครับ ซึ่งดูแล้วก็ไม่ใช่แนวทางของสาขาที่ผมเรียน ป.โท เลยครับ แต่ ป.โท นี่มาจากความชอบและเรื่องงานที่ทำอยู่ล้วนๆ เลยฮะ 🙂
ขอบคุณมากครับ ขอโทษด้วยครับที่ย้อนมาตอบช้ามากเลย แต่อยากเป็นกำลังใจให้นะครับ ถ้าชัดเจนแล้วว่าอยากเรียนอะไร มุ่งมั่นทำให้เต็มที่ แล้วเราจะไม่เสียใจภายหบังเลยครับ 🙂
วางแผนจะเรียนต่อพอดีค่ะ ตอนนี้ 36ปี แล้ว
ต้องหาข้อมูลเยอะ และกำลังเตรียมงบประมาณ
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆที่ถ่ายทอดนะคะ